"โรจน์" จากพ่อค้าของเก่า สู่แลนด์ลอร์ดตลาดนัดรถไฟ

รวมกิจกรรม ความเคลื่อนไหว พาเที่ยว เกมส์

"โรจน์" จากพ่อค้าของเก่า สู่แลนด์ลอร์ดตลาดนัดรถไฟ

โพสต์โดย chian » พุธ พ.ย. 20, 2013 3:35 pm

เห็นบทความลงในกรุงเทพธุรกิจ หลายๆคนคงเคยเดินและอีกหลายคนก็เคยขายของที่นี่
กับผู้ชายที่ชื่อ ไพโรจน์ ร้อยแก้ว ผู้ปั้นแบรนด์ "ตลาดนัดรถไฟ"
ลองอ่านกันดูครับ ได้อรรถรสดี

ทำไมคัดลอกลิงค์ ไม่ได้ ก๊อปทั้งอันมาเลยก็แล้วกัน

"โรจน์" จากพ่อค้าของเก่า สู่แลนด์ลอร์ดตลาดนัดรถไฟ
โดย : ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

เสน่ห์ตลาดนัดอมตะไม่มีวันตาย พ่อค้าของเก่าอย่าง"ไพโรจน์ ร้อยแก้ว"ถอดสูตรปั้นตลาดให้คนค้าขาย สยายธุรกิจร้อยล้าน "ตลาดนัดรถไฟ"

เปิดตำนานเจ้าของ "ตลาดนัดรถไฟ" มือปั้นธุรกิจ เลือดนักค้าคนสู้ชีวิต "ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ประสบการณ์ 20 ปีในชีวิตพ่อค้า ทำให้เขามองธุรกิจตลาดนัดขาด แจ้งเกิดตลาดนัดได้ในเวลาไม่นาน

พ่อค้าและคนทั่วไป รู้จักเขาในนาม "โรจน์" เจ้าของร้านขายของเก่าย่านจตุจักร Rod’s Antique แต่ฝรั่งเรียกเขาว่า "ร็อด" ชายร่างท้วม ผิวหมึก วัย 39 ปี พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา แต่จริงใจสไตล์พ่อค้า

โรจน์เปิดปูมเส้นทางพ่อค้าสู่เจ้าของตลาดให้ฟังว่า เข้าสู่สนามปราบเซียนในตลาดคลองถม ตั้งแต่อายุ 21 ปี จนอายุขึ้นสู่เลข 3 ต้นๆ จึงย้ายมาเซ้งร้านค้าในตลาดจตุจักร นับได้ว่าเป็นเจ้ายุทธจักรนักค้าขายขนานแท้

กระทั่งไต่ขึ้นมาเป็นจอมยุทธจัดสรรตลาดเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปั้นแบรนด์ "ตลาดนัดรถไฟ จตุจักร" ตรงข้ามอตก. แหล่งรวมคนซื้อ คนขาย ทั้งของใหม่ ของเก่ามือสอง ไปจนถึงของโบราณ (Antique) จนตลาดนัดรถไฟ จตุจักร ปิดตัวลง (การรถไฟฯ ต้องการพื้นที่คืนเพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง) จึงย้ายมาอยู่ "ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์”
ทว่า ความคึกคักยังคงมีให้เห็น จากพื้นที่กว้างขวาง ทำให้จำนวนแผงเพิ่มขึ้นจากเดิม

"ทำเลนี้น่าจะเป็นการย้ายแผงครั้งสุดท้าย !!" โรจน์ บอกแบบนั้น โดยเขามุ่งมั่นที่จะสร้างแหล่งค้าขายถาวรให้พ่อค้า ด้วยสัญญาเช่าระยะยาว 15 ปี จากผู้เช่าเดิม (ตลาดสวนศรี) หลังพยายามปั้นธุรกิจตลาดมาระยะหนึ่งแต่ปั้นไม่ขึ้น จึงเปิดทางให้เจ้ายุทธจักรเข้ามาร่ายฝีมือจัดสรรที่โล่งกว้างเนรมิตสนามแข่งรถเก่ามาเป็นตลาดนัด พร้อมกับยกโซนพลาซ่าอีก 500 ล็อคให้ไปบริหาร

แม้ย้ายที่ใหม่ แต่ชื่อและสิทธิ์คำว่า "ตลาดนัดรถไฟ" โรจน์ยังเป็นเจ้าของ ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดการค้าได้

"ถ.ศรีนครินทร์ คือฐานที่มั่นใหม่ที่ไม่ต้องมาเสี่ยงถูกไล่ที่หอบแผงย้ายไปหาทำเลใหม่อีกต่อไป" โรจน์บอก

ในแวดวงค้าขาย รู้ดีว่า เรื่องทำเลที่ตั้งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะชีวิตพ่อค้าหลายรายต้องเวียนวนกับการถูกไล่ รื้อ เวนคืนที่ค้าขายเป็นประจำ โรจน์ อดีตคนเคยขายของแบกะดินจึงมีลูกฮึดปลุกปั้นตลาดนัดแบบมีแผงประจำให้พ่อค้าระยะยาว ปิดจุดเสี่ยงไร้แหล่งค้าขาย

กลายเป็นบทพิสูจน์ความเป็นเจ้ายุทธจักร มือปั้นตลาดนัดบนสมรภูมิใหม่ เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

"ก็มีความกังวลเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเค้าจะตามกันมารึเปล่า เพราะไกลพอสมควร"

วัดสภาพ "ตลาดนัดรถไฟ" ศรีนครินทร์ ที่มีทำเลด้อยกว่าเดิม แต่ตลาดฮอตฮิตก็ตรงแบรนด์และกิมมิค ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของตลาดนัดรถไฟ ตั้งแต่การตกแต่งที่มีซิกเนเจอร์ แหล่งรวมของมือสอง และสินค้าคลาสสิค

"จุดด้อยมีเพียงเรื่องเดียวคือทำเลที่ไกล ลูกค้าหลายคนก็มีโอดครวญ” โรจน์ระบุ

ทว่า ทำเลใหม่ก็ยังมีจุดแข็งตรงที่มีพื้นที่ขนาด 60 ไร่ กว้างใหญ่กว่าเดิม "เท่าตัว" ใช้พัฒนาธุรกิจได้ถึง 40 ไร่ รองรับแผงได้ถึง 2,000 ล็อค และทำลานจอดรถได้อีก 20 ไร่ ขณะที่ตลาดนัดรถไฟจตุจักรมีพื้นที่รวมเพียง 30 ไร่ รองรับแผงได้เพียง 600-700 ล็อค

นอกจากนี้ ย่านศรีนครินทร์ ยังเป็นแหล่งรวมชุมชนทั้งจากรามคำแหงและปากน้ำ คนที่มาเดินจึงมีทั้งขาประจำแฟนพันธุ์แท้ และส่วนหนึ่งเป็นชุมชนในย่านนี้

โรจน์เล่าว่า เพียงไม่นาน โจทย์อันท้าทายได้ถูกทำลายลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อคาราวานผู้เช่าในตลาดเต็มทุกล็อคภายในเวลา 2-3 เดือนแรกของการเปิดตลาด แบ่งเป็นแผงขายของ 1,600 ล็อค พลาซ่า 500 ล็อค และโซนโกดัง 9 โกดัง (ร้านใหญ่ถาวร 300 ล็อค) และยังมีพื้นที่สำหรับขาจร (waiting list) อีก 400-500 ราย ที่แวะเวียนเข้ามาเมื่อขาประจำไม่มาขาย

"มีขาจรรออยู่เมื่อขาประจำไม่มา เพื่อไม่ให้เป็นพื้นที่ฟันหลอ”

พ่อค้าอย่างโรจน์เดิมพันยอมเสี่ยงปั้นตลาดเอง ด้วยการเปิดกว้างให้พ่อค้าเช่าทำสัญญาระยะสั้นเริ่มต้น 1 ปี ขณะที่เขาทำสัญญาระยะยาวเช่าที่ดิน 15 ปี วัดใจกันไปเลยว่าถ้าตลาดติด พ่อค้าจะมาแย่งกันเช่าในปีที่ 2 หรือหากตลาดไม่ติดคนไม่เดิน พ่อค้าก็เตรียมเลิกแผงในปีที่ 2 เช่นกัน

"เราไม่บีบรัดลูกค้าหากลูกค้าไม่ไหว เลิกได้ในระยะสั้น" โรจน์ย้ำถึงสูตรที่ดูจะเสี่ยงๆ แต่เขาดีดลูกคิดแล้วว่า "พออยู่ได้"

ความใจถึงยอมเสียก่อนจึงได้ ทำให้คนกรูมาเช่าแผงเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งพ่อค้าเก่าที่ตามมาจากตลาดเดิม และพ่อค้าใหม่เห็นชื่อตลาดก็จอง พ่อค้าส่วนหนึ่งยังเชื่อมือเขาฐานที่อยู่กันมานาน จนกลายเป็นกิมมิคคู่ตลาด อย่างบะหมี่จอมพลัง รายได้คืนนึงเฉียดแสน ,กาแฟ เอ้ ลูกน้องของโรจน์ที่ผันไปเป็นพ่อค้ากาแฟ หลายคนพูดว่ารสชาติกาแฟไม่ต่างกันกับที่อื่น แต่สไตล์ลีลาการชงกาแฟหาดูได้ยาก กวักเรียกลูกค้าจนแน่นร้าน

รวมไปถึงพ่อค้าอาหารรสเลิศ ขึ้นชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเตี๋ยวกุ้งรถไฟ ,ผัดไทเชือกกล้วย,โก๋หลังวัง , A.O. Anitque,Gold Finger ,Sanim ,Around The world ก่อร่างสร้างตัวมาจากตลาดนัดมหาชนแห่งนี้

โรจน์ ยังเห็นว่า "ตลาดนัด" มีเสน่ห์ในตัว ตรงที่ต่อรองราคาได้ มีสีสัน และมีของให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าห้างหรือตลาดที่ไหนก็เทียบไม่ได้ เด่นก็ตรงที่แบรนด์ติดตลาดแล้ว

"ตลาดแบบนี้ไม่ได้มีเยอะ คอนเซ็ปต์ของมือสอง และยังมิกซ์แอนด์แมช รวมสินค้าใหม่และเก่าผสมปนกันมา ทั้งของกิน ของใช้ ของใหม่ของเก่า มาที่เดียวจบ ถ้าอยากมาหาของซื้อของได้เสียเงินแน่" ชายหนุ่มวัย 39 ยืนยัน
ลูกเล่น ที่เป็นกิมมิค จุดขายสร้างสีสันตลาดนัด ถูกใจคออินดี้เห็นจะเป็นการตกแต่งพร็อพจากฝีมือของพ่อค้าคอเดียวกันกับโรจน์ มาชุมนุมในตลาดนี้ กลายเป็นการโปรโมทตลาดไปในตัวโดยไม่ต้องเสียเงิน "ยิ่งแชร์ยิ่งดัง" ตอกย้ำแบรนด์

"กระแสชอบวินเทจหรือของย้อนยุคกลับมาก็จริง แต่คำว่าคลาสสิคมีมาทุกยุคทุกสมัย ที่มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งชอบเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้” เขายืนยันว่าตลาดแนวคลาสสิค ไม่ได้เป็นเพียงกระแส

โรจน์ สรุปให้ฟังถึงแม่เหล็กดึงดูดให้คนมาตลาด คือ การตกแต่งร้านแนวคลาสสิค ,สถาปัตยกรรม มีโซนพลาซ่า คือไอเดีย ตกแต่งตามสไตล์ของเจ้าของ ส่วนคอนเซ็ปต์คลาสสิคก็เป็นโซนโกดังตั้งต้นจากร้านของเขา Rod’s Antique นำของเก่ามาโชว์ขายและกลายเป็นพร็อพไปในตัวให้คนถ่ายรูป ยังมีพรรคพวกขายของเก่าอีก 300 ร้าน อยู่ในโซนโกดัง 9 โกดัง สำหรับคอนเซ็ปต์คลาสสิค

ยังไม่นับรวมสีสัน คัลเลอร์ฟูล ที่เขาจะจัดกิจกรรมดึงคนเข้ามาทุกสุดสัปดาห์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มีทั้งดนตรี งานรื่นเริงบันเทิง เพื่อทำให้ตลาดแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์ค ให้คนมารวมตัวในสเกลที่ใหญ่ขึ้น

โรจน์ประเมินคร่าวๆ ถึงสถิติจำนวนคนมาเดินตลาดนัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน เงินสะพัดไม่ต่ำกว่าคืนละ 7-8 ล้านบาท ประเมินเฉพาะร้านในโซนตลาดนัด 1,500 ล็อก ที่รายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท (บางร้านขายได้เป็นหมื่นจนเฉียดแสน) นี่ยังไม่นับรวมโซนพลาซ่า500 ล็อก และโซนโกดังอีก 300 ล็อค

"คนที่มาขายของที่ศรีนครินทร์ถือว่าขายดี แต่ถ้าไปเทียบกับตลาดนัดรถไฟที่จตุจักรขายดีมาก ซึ่งของอย่างนี้ต้องใช้เวลา" โรจน์เล่าพร้อมรอยยิ้มน้อยๆ

โรจน์ ยังบริหารจัดการตลาดควบคุมต้นทุนที่คิดอย่างพ่อค้า อย่างน้อยใช้เวลาคืนทุนได้ใน 1 ปี โดยแบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายเป็น 3 กอง ใน 100 บาท 50 บาทแบ่งเป็นค่าที่ อีก 30 ถูกใช้ไปกับงานก่อสร้าง และที่เหลือ 20 คือกำไร ค่อยๆ เติมเงินไม่ใช่ลงทุนรวดเดียว 20 -30 ล้านบาท

อีกระบบที่เขาใช้ควบคุมให้ตลาดแห่งนี้มีอายุยืนยาว และคนมาเดินมาก ฉีกตำรานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มักลงทุนสูง เก็บค่าเช่าสูง เพื่อให้กำไรสูง หากพ่อค้าอยู่ไม่ได้ก็เปลี่ยนมือเซ้งต่อไป สินค้าจึงแพงขึ้น

แต่ตำราของโรจน์ อดีตพ่อค้าเก่า คือความเข้าใจพ่อค้าด้วยกันว่าต้องการที่ขายประจำให้พอมีกำไร “คืนทุนให้ช้าหน่อย เก็บค่าเช่าน้อยหน่อย ถ้ามีคนมาเช่ายังไงก็ต้องได้กำไร" เขาบอก

พ่อค้าขายของเก่าอย่างโรจน์จึงรู้ดีว่า จะให้คนอยู่ได้ค่าเช่าต้องไม่สูงเกินไป ด้วยการควบคุมไม่ให้เปลี่ยนมือเซ้งต่อ
"ที่นี่ไม่มีค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือเก็บเงินกินเปล่า ค่าหัวคิว เช่ามาแล้วปล่อยต่อทั้งสิ้น หากรู้ว่าทำจะยึดที่คืนทันที” กฎเหล็กที่คุมพ่อค้าไม่ให้ขึ้นราคาสินค้า จากค่าแผงที่แพงขึ้น ทำให้ลูกค้าก็ไม่อยากเดินตลาดอีกต่อไป

"เราต้องการให้ตลาดมีคนเดินหลากหลาย คนมีรายได้น้อยก็เดินได้ ระดับเศรษฐี ไฮโซคนมีเงินก็เดินได้ด้วย" โรจน์บอก

ถึงวันนี้เขาเริ่มมั่นใจแล้วว่าตลาดจุดติด เมื่อประเมินรายได้จากค่าเช่าแผงที่ได้

สิ่งที่ยืนยันการันตีได้ว่าตลาดแห่งนี้สำเร็จรวดเร็ว ดูได้จากนายทุนรายหนึ่งขอเซ้งตลาดรวมกับค่าแบรนด์ต่อจากเค้าในราคาหลักร้อยล้าน หรือบางรายก็ขอมาเป็นหุ้นส่วน โรจน์ปฏิเสธหมด

"เฮียซื้อผม เพราะเห็นผมสำเร็จ หากผมขายแล้วไปสร้างตลาดใหม่มาแข่ง เฮียไม่กลัวเจ๊งเหรอ เหมือนคุณตัน โออิชิ ขายแล้วทำมาแข่ง" โรจน์ เล่า

ส่วนนายทุนที่ขอมาเป็นพาร์ทเนอร์ก็จะเจอตอกกลับแรงไม่แพ้กัน

"เฮียกล้าเอาเงินมาทิ้งอย่างผมไหม" คำตอบที่เขาพยายามสะท้อนถึงจุดเริ่มต้นของตลาดที่เดิมพันความเสี่ยงสูง ในช่วงที่ตลาดยังไม่ติด

โรจน์บอกถึงอนาคตของเขากับตลาดแห่งนี้ว่า เขาขอเวลา 5 ปี เมื่อแน่ใจว่าตลาดเดินได้ด้วยตัวเอง เขาจะรอจังหวะเก็บเกี่ยวกำไรได้เงินสักก้อน เพื่อไปต่อยอดธุรกิจตั้งต้นในธุรกิจ "ค้าของเก่า” ร้าน Rod’s Antique

เขาบอกว่า หากว่ากันตามจริงธุรกิจขายของเก่าทำเงินได้สูงกว่าตลาดและง่ายไม่จุกจิกต้องมาดีลกับคนนับพันราย ค้าของเก่ามีลูกค้าประจำ 10ราย ในมือที่ถือว่าเก็บกินยาว เพราะลูกค้าของพวกนี้เป็นเศรษฐี นักธุรกิจที่ซื้อของไปเก็บสะสม ตกแต่งรีสอร์ท โดยเฉพาะคอนเน็คชั่นในวงการที่เขาปูทางไว้ร่วม 20 ปี มีเครือข่ายคนเดินของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะขยายธุรกิจไปทั่วโลกไม่จำกัดเฉพาะคนไทย

เขาเปรยเทคนิคการค้าของเก่าไม่ให้เงินจม “เห็นของต้องนึกถึงหน้าลูกค้า” น้อยชิ้นมากที่เขาจะพลาด โดยกำไรและมูลค่าของอยู่ที่ความพอใจลูกค้า บางชิ้นไซส์เล็กซื้อห้าร้อยขายหนึ่งพันกำไร 100% หรือชิ้นใหญ่ขายหลักล้านกำไรมากเป็นแสนบาท

กรุของเก่าที่โรจน์เก็บไว้ในมือกว่า 1,000 ชิ้น มีมูลค่าเริ่มต้น 1,000 บาท จนถึงหลักล้านบาท รวมทุกชิ้นมูลค่าถึง 30 ล้านบาท ธุรกิจที่เขามีความสุขกับการครอบครองของเก่า

“นักสะสมเล่นของโบราณ ถือว่า สมบัติ ผลัดกันชม”

เขายังปูทางเพื่อจะก้าวสู่การเป็น "ดีลเลอร์" ค้าของเก่า เป็นผู้นำเข้าของเก่าจากต่างประเทศด้วยตัวเอง โดยเก็บเงินไปซื้อโกดังที่ฝรั่งเศส ศูนย์กลางของเก่าจากยุโรป ก่อนส่งมาขายในไทย แต่หากชิ้นไหนอายุเกิน 300 ปี ทางกฎหมายฝรั่งเศสห้ามนำออกจากประเทศ จะต้องมีการจัดทัวร์นำนักเลงสะสมของเก่า เข้าไปชมและเลือกซื้อกันถึงแหล่งโดยตรง

"ที่นั่นเป็นแหล่งรวมของเก่าระดับโลก บางช่วงจะมีเปิดประมูลเราก็จะเข้าไปประมูลและเก็บของไว้ในโกดัง ไปซื้อหามาเก็บไว้ แล้วจัดทัวร์ให้เศรษฐีนักเก็บสะสมของเก่าเข้าไปดู” เขาเล่าแผนการในอนาคต
--------------------------------------
เส้นทางขรุขระ
จาก "พ่อค้าคลองถม"

ชีวิตต่อสู้ของพ่อค้าคลองถม บทเรียนการต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายของ "ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ที่ไต่ขึ้นมาเป็นเจ้าของโครงการ “ตลาดนัดรถไฟ” มูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แลนด์มาร์คใหม่ของคนกรุงเทพฯ

โรจน์เล่าความทรงจำให้ฟังว่า เกิดและเติบโตที่จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเป็นคนที่มี "รสนิยม" ต่างจากชาวบ้านมาตั้งแต่เล็ก โดยเฉพาะตัวพ่อในการหลงใหลของเก่า เพื่อนๆจะฟังเพลงป๊อปแต่เขาฟังเพลงสากลยุค 70-80 รักและสะสมอัลบั้มนักร้องฝรั่งตั้งแต่เด็กๆ

"ผมจะแตกต่างจากคนอื่นค่อนข้างมาก ชอบฟังวิทยุจุฬาฯ คลื่นที่เปิดเพลงสากล ชอบฟังเพลงของมาโนช พุฒตาล ชอบใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ ชอบรถฝรั่ง แต่เพื่อนชอบรถญี่ปุ่น ชื่นชอบจนมาขายเป็นแอนทีคในปัจจุบัน”

อายุ 15 ปีโรจน์เริ่มต้นอาชีพพ่อค้า ไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ตอนปิดเทอมเพราะเป็นแหล่งของเก่าจากอเมริกา ตั้งแต่เสื้อทหาร กางเกง กระเป๋า เป้ รองเท้า หาเงินจากของพวกนี้เพื่อจ่ายค่ารถ ค่าเที่ยวฟรี หลังๆยอมตีตั๋วรถไปหาดใหญ่ เพื่อซื้อของจากหาดใหญ่มาขายที่ตลาดโต้รุ่ง จ.อยุธยา ก่อนจะค่อยขยับจากหาดใหญ่ สู่การพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ ที่อ.โรงเกลือ จ.สระแก้ว ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา

ยุคนั้นเขากำเงินเทียวไปเทียวมาหิ้วกระเป๋าใบใหญ่ขึ้นรถไฟไปซื้อของกลับมาขาย ไม่น่าเชื่อเมื่ออายุ 17 ปี โรจน์ก้าวขึ้นมามีเงินซื้อรถเป็นของตัวเอง เรียกว่าขายของระหว่างเรียนมาโดยตลอด

โรจน์ยังเล่าว่า จุดเปลี่ยนที่เขาเริ่มจริงจังกับการเข้าสู่ถนนสายพ่อค้าอาชีพ เริ่มขึ้นเมื่ออายุ 21 ปี ตอนอยู่ปี 3 ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยมีหนังสือเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนความคิดเขาให้ตัดสินใจทิ้งชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ไปสร้างความมั่งคั่ง

"ผมอาจจะอ่านหนังสือผิดรูปผิดทางไปบ้าง จึงออกทะเล ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากเรียนแล้ว เพราะมีความคิดจุดประกายตัวเองว่า กว่าเพื่อนจะเรียนจบ เราคงรวยไปแล้ว งั้นเราไปก่อนเพื่อนเลยดีกว่า” โรจน์เล่าถึงความคิดห่ามในวัยเรียน


ทว่าเส้นทางชีวิตกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โรจน์เล่าต่อพร้อมกับยิ้มว่า "ลำบากจริงๆ ต้องไปขายของลุ่มๆ ดอนๆ ไปเป็นคนทำพร็อพ จัดอุปกรณ์ประกอบฉากทำหนังอยู่พักนึงก็กลับมาขายของตามเดิม"

ถนนสายนี้ไม่ง่าย เมื่อโรจน์ จะเอาดีในทางค้าขาย เขาเล่าถึงความทรงจำวันแรกที่ถูกรับน้องโหดเมื่อเดินเข้าสู่ "คลองถม" ทะเลใหญ่แห่งวงการการค้า ที่อัดแน่นด้วยความเคี่ยวเข้มข้น

เด็กหนุ่มพบเงินก้อนใหญ่ติดตัวไป 8,000 บาท นั่งรถไปซื้อของเก่ามาเต็มกระเป๋าใหญ่เหลือเงินติดตัวไม่ถึงพัน เดินหิ้วกระเป๋าไปมาเพื่อหาที่สักจุดเพื่อตั้งแผงขายริมฟุตบาท แต่พอจะวางของก็มีแต่คนไล่

“เขาบอกว่าน้องๆ ที่นี่มันเป็นที่ของพี่ !!!”

เขาลากกระเป๋าภายในบรรจุของมือสองไปจนเกือบสุดตลาดคลองถม ก่อนจะยึดทำเลได้ในที่สุด โดยเล่นมุกตอกหน้าคนอื่นบ้าง เมื่อมีคนมาบอกว่าน้องที่นี่มันที่ของพี่

โรจน์ฮึด ฮึดเปล่งเสียงแข็งกลับไปบ้าง "ผมก็เอามั่ง ไม่ใช่ๆ ที่นี่มันเป็นที่ของผม ผมขายมาหลายปี" จากวันนั้นธุรกิจที่เริ่มด้วยเงินทุน 8,000 บาท ก็ขยับมาเป็นหมื่นเป็นแสน กำไรเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ผ่านไป 2-3 ปีที่สุดเขาก็สามารถถอยรถได้

ขณะที่สินค้าขายดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันเสาร์ เขาจะมีลูกค้าประจำมายืนรอชม เลือกซื้อของเก่าในกระเป๋าของโรจน์ ก่อนเขาเอารถไปจอดซะอีก

ผ่านร้อนผ่านหนาวจนทำให้เขาหันไปทำตลาดที่เข้าใจชีวิตพ่อค้าด้วยกัน

"ผมเกิดมากับมัน โตมากับมัน ผมเข้าใจรสชาติมันดี พื้นถนน พื้นตลาด ผมผ่านมาพอสมควร ทั้งตากฝน คลุกคลีอยู่กินบนท้องถนนตลาดนัด “ โรจน์บรรยายชีวิตพ่อค้าฟุตบาท

ชีวิตถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในช่วงระหว่างอายุประมาณ 30 ปีต้นๆ หรือเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา เมื่อขยับไปหาตลาดย่านจตุจักร แทนคลองถม

โรจน์ทุ่มหมดหน้าตัก ขายรถไป 1 คัน รวมทุนรอนได้ 3 แสนบาทเพื่อมาใช้เซ้งร้านราคา 1 แสนบาท เขาเปิดร้านขายของในเวลานานกว่าคนอื่น ทำมากกว่าคนอื่น ก็เพื่อให้คืนทุนเร็วที่สุด

"คนอื่นเปิด 10 โมง ผมเปิด 8 โมงเช้า คู่แข่งปิด 6 โมง ผมปิด 4 ทุ่ม ผลจากทำมากได้มาก คืนทุนใน 3 เดือน หาเงินมาเซ้งร้านต่อขยายไปได้อีก 9 ห้องติดกัน ขยายเป็นอาณาจักร Rod’s Antique ร้านของเก่า ร้านอาหารและ มีบาร์"
ก่อนจะขยับมาทำตลาดนัดรถไฟ ข้างอตก. โกดังเก่า รกร้อง ที่โรจน์บอกว่า "หญ้าสูงท่วมหัว ฝุ่นยาวครึ่งเข่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากหมากับกะเทย” โรจน์ปล่อยมุก ก่อนจะถูกเวนคืนที่ดินจากการรถไฟฯ

"ไม่ง่ายเลย ชวนเพื่อนที่เคยทำตลาดเก่งๆ ไม่ว่าใครก็ขอบาย มองเห็นความรกร้างแล้วไม่คิดว่าตลาดจะไปรอด" โรจน์เล่า พร้อมบอกว่า เขาเลยต้องลงทุนโซโล่เอง คราวนี้ถึงกับน้ำตาตกเพราะตัดใจขายรถโบราณสุดรักสุดหวงราคาล้าน เพื่อมาลงทุนตลาด

โรจน์บอกว่าเข้าไปครั้งแรกจัดการปัดกวาด ทำความสะอาด ตัดหญ้า และล้างฝุ่น ต่อน้ำต่อไฟ และค่อยนั่งร่างจัดวางล็อค แน่นอนว่ายากที่สุดก็ตอนเริ่มต้นหาคนมาเช่า 3 เดือนแรกทำโปรโมชั่น เข้ามาขายก่อนไม่เก็บค่าเช่า เลือกออกประกาศด้วยการไปซื้อโฆษณาตามหน้าเฟซบุ๊ค ตามแหล่งรถมือสอง จำนวนพ่อค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตำราเดิมของเค้า

"อยากได้ต้องให้ก่อน" โปรโมชั่นก่อนเรียกพ่อค้าให้มารวมกันนตลาดจตุจักร โดยการที่ยอมให้ขายฟรี 3 เดือนแรก เอาพ่อค้ามากองรวมกันเยอะๆ เป็นแม่เหล็กดึงคนมาเดินให้มาก

"ให้ขายฟรี แถมยังแจกเบียร์ และข้าวฟรี ในวันฝนตก" ปรากฏว่าตลาดติดอย่างรวดเร็วในเวลา 6 เดือนจนในที่สุดโรจน์และก๊วนพ่อค้าจึงเกาะเกี่ยวติดตามกันมาปักหลักใหม่ ที่ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์
chian
 
โพสต์: 355
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ธ.ค. 16, 2009 8:19 pm

ย้อนกลับไปยัง TRAVEL / ACTIVITY & EVENTS

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน

cron