ไปเที่ยวบ้านจักรยาน บ้านพิพิธภัณฑ์กันมั๊ย

รวมกิจกรรม ความเคลื่อนไหว พาเที่ยว เกมส์

ไปเที่ยวบ้านจักรยาน บ้านพิพิธภัณฑ์กันมั๊ย

โพสต์โดย o_PAO » พุธ พ.ย. 09, 2005 1:05 pm

บ้านจักรยานของอาจารย์ทวีไทย ไม่ได้มีแค่จักรยานนะ มีของเก่าๆสไตล์เราเพียบ ใครยังไม่เคยไป นัดกันไปดีมั๊ย เสร็จแล้วไปต่อที่บ้านพิพิธภัณฑ์ของคุณเอนก แล้วจะเลยไปบ้านคุณไก่อูก็ไม่ไกล

บ้านจักรยาน อาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์
๗๖/๑o หมู่ ๔ ซอยโชควัฒนะ ๕ ถนนสวนผัก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
โทร ๔๒๔-๔๗o๕ , ๔๒๔๖๔๖๔
.................................................................................................................


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

บทความจาก manageronline ครับ

"Get a bicycle. You will not regret it. If you live.": Mark Twain

"มีจักรยานสักคัน คุณจะไม่มีวันเสียใจ..."

ปัจจุบันคำนี้ได้กลายเป็นอดีตไปเกือบจะเรียบร้อยแล้วของคนเมืองจำนวนมาก ที่ถนนส่วนใหญ่ถูกยึดครองด้วยรถและจักรยานยนต์ แถมถนนสายใหม่ที่จะเกิดก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมแต่อย่างใดเสียด้วย

แต่ก็ยังมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ยังคงเชื่อมั่นในประโยคข้างต้นนั้นอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่ายุคสมัยหรือบ้านเมืองจะพัฒนาไปเช่นไร เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว "รถถีบ" เหล่านี้ มีคุณค่ามากกว่าการเป็นแค่พาหนะธรรมดาเท่านั้น

บางคนยังขี่ไปทำงานท่ามกลางรถรานับร้อยบนถนน...บางคนรักและสนใจจนสะสมไว้เป็นพันคัน!

บ้านจักรยาน กับ ทวีไทย บริบูรณ์

หลายสิบปีมาแล้ว ที่ผู้คนในซอยสวนผักย่านตลิ่งชันทราบว่า บ้านหลังหนึ่งในซอยของพวกเขาเป็นที่รวบรวมของแปลกๆ และที่สำคัญ....หายาก

ครั้งหนึ่งบ้านนี้เต็มไปด้วย "รถโบราณ"

ครั้งหนึ่ง บ้านนี้เคยมี "นาฬิกาโบราณ" นับพันเรือน

ครั้งหนึ่ง บ้านนี้เคยมี "บอนไซ" นับร้อยต้น

และ 8 ปีให้หลังมานี้ บ้านหลังเดียวกันยังได้รวมจักรยานเก่าแก่มีอายุตั้งแต่ปี 2510 ย้อนขึ้นไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 นับพันคันมาจัดแสดงไว้ ยังไม่รวมของเก่ามีค่าควรเก็บอย่างอื่นๆ นับพันชิ้น เช่น ยาคูลท์ขวดแรก ตู้เย็นโบราณ ฯลฯ ซึ่งใครมาเห็นแล้วก็คงจะต้องได้แต่ยืน "อึ้ง" ลูกเดียวว่าเขาหามาได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ เป็นผลงานการสะสมของอาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ ทั้งสิ้น

หลายครั้งผู้มาเยือนบ้านจักรยานมักพบชายอาวุโสในชุดอยู่บ้านสบายๆ ซึ่งเขาก็มักจะรดน้ำต้นไม้และทำงานจิปาถะตลอดทั้งวันอย่างมีความสุข "ผมเป็นคนพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี" เขาเล่าสั้นๆ ถึงพื้นเพดั้งเดิม ในแฟ้มที่เขานำมาให้เราดูเพื่อทำความรู้จักบ้านจักรยานและชีวิตของเขานั้นระบุว่าอาจารย์ท่านนี้เคยเรียนโรงเรียนเพาะช่าง และคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นไล่เลี่ยกันกับศิลปินชื่อดังอย่าง ถวัลย์ ดัชนี

ความเป็นนักสะสมจักรยานของเขาไม่ได้มีพื้นฐานจากตอนเด็ก แม้จะรู้จักกับจักรยานอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 15 ปี "ไม่เกี่ยวกับเรื่องตอนเด็ก เริ่มสะสมเมื่อถึงพร้อม ผมเริ่มจากสะสมหนังสือ เริ่มหาอะไรเก็บ ถ้าไล่มาดูจะมีอยู่ 25 อย่าง ไม่ได้สะสมเพื่อมีอย่างเดียว แต่แสวงหาความรู้ด้วย เคยทำบอนไซ เรื่องต้นไม้ก็รู้ลึกพอสมควรถึงจุดของมัน หรือแม้กระทั่งเลี้ยงหมาก็เคยเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่มได้"

แต่ความเป็นนักสะสมสิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย "เราเรียนศิลปะโดยตรง เป็นการปลูกฝัง สมัยใหม่คงต้องพูดว่าจิตวิญญาณ ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นวิถีทางของการศึกษาด้วยใจรัก"

จริงๆ อาจารย์ทวีไทย ไม่ใช่แค่นักสะสมเท่านั้น หากจะให้เราจำกัดความ แต่ดูเหมือนเขาชอบที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มนอกห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ หลังเรียนจบเขาเคยเป็นทั้งอาจารย์และพ่อค้า โดยไปสอนคณะสถาปัตยกรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังอยู่ 6 ปีและพลิกอาชีพไปเป็นพ่อค้าโดยเปิดโรงงานเครื่องปั้นดินเผาอยู่อีก 20 กว่าปี

เขาเชื่อว่าคนเราสามารถประยุกต์และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ไม่จำเป็นต้องเรียนมาโดยตรง "ตอนรับปริญญา ในหลวงท่านจะให้พระบรมราโชวาทว่าต้องศึกษาต่อ ไม่ว่าเราจะเป็นแพทย์ วิศวะ หรืออะไรก็ตาม ผมเป็นคนเรียนศิลปะ ก็นำเส้นทางการเรียนศิลปะมาใช้กับชีวิต อย่างเครื่องปั้นดินเผาผมไม่ได้เรียนมา ตอนเรียนไม่มีวิชาเรียน รู้แต่ความงาม การปั้น การเขียนแบบ ต่อมาต้องมารู้ระบบการผลิต การเป็นพ่อค้า การเป็นนักแสดง การเป็นอะไรอื่นอีกหลายอย่าง" อาจารย์ทวีไทยเล่าถึงความกระหายใคร่รู้สิ่งต่างๆ ที่ตนเองมีสมัยหนุ่มๆ

และชีวิตช่วงที่ทำโรงงานเครื่องปั้นดินเผานั้นเอง เขามีผลงานทางสำคัญๆ เช่น การปูกระเบื้องบนองค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐม ซ่อมแซมยักษ์วัดพระแก้วทั้งหมด 11 ตนด้วยกระเบื้องประดับทั้งหมด ซ่อมแซมปราสาทพระเทพบิดร พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การทำกระเบื้องศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ฯลฯ

ก่อนจะเริ่มหันมาสะสมทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต อย่างเหยี่ยว บอนไซ นาฬิกา และจักรยานอย่างจริงจัง

"คนเราทำได้ทั้งนั้น ทุกศาสตร์ แพทย์อาจจะเก่งถ่ายรูป หรือเป็นนักปลูกกล้วยไม้ฝีมือดีได้ เหลือเพียงว่าสนใจสิ่งนั้นเต็มที่หรือไม่ ถามกันจริงๆ บางเรื่องผมไม่รู้ จักรยานผมก็ไม่รู้ ครั้งแรกผมรู้แค่มันเป็นพาหนะขับเคลื่อนได้ แต่เมื่ออยากรู้มากขึ้นก็ใช้เวลาเก็บสะสมเรียนรู้อยู่ 2 ปี จนเขียนหนังสือเผยแพร่ได้"

แต่เขาไม่ได้ตั้งใจทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพราะในความรู้สึกของอาจารย์ทวีไทย ต้องมีระบบการจัดการเป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้ "เป็นเพียงบ้านที่มีของสะสมใหม่เก่า เก็บเอาไว้ดูจริง ไม่ใช่ดูเล่นอย่างที่เขาพูดกัน พิพิธภัณฑ์จริงจะมีระบบ...และเอื้อความรู้แก่ผู้ใช้อย่างเป็นแบบแผน...การมีของมากจัดวางตามใจจึงไม่ใช่พิพิธภัณฑ์"

สำหรับอาจารย์ทวีไทยที่นี่เป็นเพียงบ้านสำหรับการสะสมเท่านั้น...

เพราะบ้านจักรยานเปิดให้คนมาชมอย่างเต็มที่ อยากสัมผัส อยากหยิบจับนั้นได้ ตามสบาย โดยที่เจ้าของไม่มีการเดินไปเฝ้า หรือไปรบกวนการไปชมแต่อย่างใด หากอยากได้ความรู้ก็สามารถไปนั่งลงพูดคุยกับเขาได้ตลอดเวลา "ผมไม่ได้มานั่งพูดว่าอยากรู้อะไร ซื้ออะไร ชื่นชมอะไร จะให้โอกาสคนที่เข้ามาเสพสุข บางทีคนเข้ามาเฉยๆ แล้วทำไมต้องไปยุ่งกับเขามาก...ทำไมต้องไปเดินอธิบายว่าของผมดี แพง สวย ผมไม่ทำ ถ้าอยากรู้ นั่งคุยกัน มา...ทั้งวัน ทั้งคืน ตีหนึ่ง ตีสอง"

บ้านจักรยานของอาจารย์ทวีไทย

ถ้าใครยังจำจักรยานในความทรงจำอันรางเลือนได้ ก็จะพบว่านี่เป็นเรื่องใกล้ตัวเหลือเกิน

สำหรับเด็กผู้ชายคนหนึ่งการขี่ "จักรยาน" อาจถือเป็นสัญลักษณ์ที่ดีอย่างหนึ่งของการเติบโตได้ด้วย

"ผมรู้จักจักรยานครั้งแรกอายุ 12 ปี พี่ชายซื้อให้อายุ 15 สมัยก่อนแพงมาก คันหนึ่งแลกข้าวได้ 3 เกวียน หรืออาจจะแลกทองได้ 2-3 บาททีเดียว" อาจารย์ทวีไทยเล่าถึงมูลค่าจักรยานสมัยกึ่งพุทธกาล ซึ่งแม้ว่าเวลานั้นจะล่วงเลยยุคทองไปนานแล้ว แต่รถถีบเหล่านี้ก็ยังมีมนต์ขลัง ทั้งในด้านจิตใจและราคาค่างวดมากกว่ายุคปัจจุบัน

ในบ้านของอาจารย์ทวีไทย หากเดินไปตามซอกมุมต่างๆ ก็จะพบกับของเก่ามากมาย โดยเฉพาะในตัวบ้านที่มุงสังกะสีหลังใหญ่ จะเป็นจุดที่รวบรวมจักรยานรูปทรงแปลกๆ เอาไว้มากที่สุด

เขาเล่าถึงความตั้งใจเกี่ยวกับการสะสมจักรยานว่า "สะสม 2 ปี เผยแพร่ 2 ปี แสดงสัก 2 ปี แล้วหยุด เพื่อคนอื่นได้ทำบ้าง ไม่ใช่เราที่เดียว" เพราะปรัชญาของการสะสมของเขาต้องมีคำว่า "พอ"

ทวีไทยเริ่มเสาะหาจักรยานไปทั่วประเทศเมื่อปี 2538-2539 ก่อนจะนำจักรยานจำนวนมากที่รวบรวมได้จัดเตรียมในบริเวณบ้านช่วงปี 2540 และในที่สุดก็เปิดให้คนเข้าชมเป็นทางการในปี 2541

เขาบันทึกเอาไว้ว่า "พอใจ และคิดพอ ปี 42-43 สรุป หยุด มอง นิ่ง ปี 44"

"เมื่อไม่จำเป็นก็หยุด มันมีเวลาและระยะ มนุษย์มีจังหวะ คุณเรียนมัธยม 6 ปี มหาวิทยาลัย 4 ปี ทุกอย่างมีช่วงเวลา แล้วคุณจะตกซ้ำชั้นหรือ การสะสมของผมจะไม่ซ้ำชั้น จบอะไรผมก็พอ" การ "เลิก" ของอาจารย์ทวีไทยไม่ได้แปลว่าปิดพิพิธภัณฑ์แล้วโละของ แต่หมายถึงการยุติการหาซื้อจักรยานเก่าๆ เข้ามาไว้ในบ้านจักรยานแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2543

"เลิกของผมหมายถึงเลิกหาและไขว่คว้า ถือคติว่าช้อนปลาในบ่อพอสมควรแล้วปล่อยแม่ปลา พ่อปลา ที่หลงแหหลงอวนให้คนอื่นบ้าง การสะสมเป็นเพียงการเป็นเจ้าของระยะหนึ่ง ถ้าไม่รู้จักพอก็จะกลายเป็นคนโลภไม่มีสิ้นสุด หรือตอบตรงๆ ก็คือ ตอนนี้จักรยานไม่มีเหลือให้สะสม มันหมดแล้ว"

ใช่หรือไม่...ว่านั่นหมายถึงการสะสมรถถีบโบราณของเขาถึงจุดอิ่มตัว...เพราะที่ไหนมีจักรยานเก่าแก่ควรค่าแก่การเก็บรักษา เขาก็หามาจนเกือบหมดแล้ว "ยกเว้นว่าไปซื้อจากเมืองนอก ซึ่งไม่ต้องทำขนาดนั้น"

ก่อนจะขยายความว่าจักรยานที่สะสมไม่มีการเก็บของใหม่เพิ่ม "เก่าน้อยที่สุดประมาณ 40 ปีก่อนเป็นเกณฑ์ บางคนพยายามเอาของใหม่มาให้ เราก็ว่าไม่เก็บ แต่ไม่สนองไมตรีในทางลบ เอามาก็เอามา แต่จะรีบระบายไป" เขาไม่เสียดายจักรยานใหม่วันนี้ที่จะกลายเป็นของเก่าในวันหน้า? คำถามนี้ก็กลับไปสู่ประเด็นการ "พอ"

"ไม่ใช่หน้าที่เรา เรามีหน้าที่แบบนี้ สมมติ แก้วน้ำ ถามว่าวันนี้ทำไมไม่เก็บ ถ้ามีใครสักคนอยากเป็นมิสเตอร์แก้วน้ำก็ทำ อย่างมือถือรุ่นกระดูกควายคุณเก็บวันนี้ก็เก่า เวลาทำให้เก่าทุกวัน มันออกใหม่ทุกวัน ผมไม่เป็นแบบนั้น ผมจะเล่นสิ่งที่เรามีโอกาส จักรยานเรามีโอกาสเก็บแล้วเผยแพร่ เก็บเท่าที่เป็นราคามีคุณค่า"

ความเป็นสุดยอดนักสะสมรถถีบของอาจารย์ทวีไทยมีแค่ไหน ดูได้จากรถถีบโบราณที่จอดเรียงรายในบ้าน เช่นจักรยานยอดนิยมในอดีตอย่าง ราเล่ห์ ฮัมเบอร์ ฟิลลิปส์ เฮอคิวลิส รัดจ์ และบีเอสเอ ที่จอดให้ยลโฉมอย่างใกล้ชิด มิได้ตั้งอยู่ในตู้แต่อย่างใด และบางคันยังอยู่ในสภาพดีเกือบ 100%

การที่สามารถรวมรถถีบรุ่นหายากได้มากขนาดนี้ ย่อมมีคำถามถึงราคาจักรยานแต่ละคันบ่อยครั้ง และคนสะสมรถถีบอย่างเขาที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องราคาเท่าไรหลังจากซื้อหามา ก็จำต้องตอบไปในระดับราคาสูง

"ผมก็ไม่มีเจตนาไปทำให้มันแพง มันเป็นของที่ต้องลงทุนระดับหนึ่งกว่าจะได้มา มันก็ต้องมีระดับราคาที่กำหนด คนส่วนใหญ่ชอบถามว่านั่นราคาเท่าไร นี่ราคาเท่าไร โทร.มาถามเหมือนกับเราเป็นตัวกำหนดราคาในตลาด แล้วก็ไปเล่าลือว่าอย่างผมต้องราคาขนาดนี้ แท้จริงบางอันเราให้ฟรีๆ เปล่าๆ ก็มีแยะ"

เหตุผลที่ชัดเจนที่สุดคือ "ผมเคยทำเครื่องปั้นดินเผา ออกแบบเอง ราคาเป็นราคาเราเอง จะไม่เอาราคาเชียงใหม่มา จักรยานเหมือนกัน เมื่อมาอยู่ในนี้ต้องตั้งราคา ถ้าตั้งราคา 15 บาท คนก็มาแย่งกันซื้อ ในขณะที่เรามี "เดตัล" (จักรยานสมัยรัชกาลที่5) อยู่คันเดียว เราจะเหลืออะไรให้คนข้างหลังดู จะเอาอะไรเหลือเก็บ เพราะเราเก็บช่วงที่มันโรยราและกลายเป็นเศษสนิมไปซะส่วนใหญ่"

"เดตัล" ที่อาจารย์ทวีไทยกล่าวถึงคือจักรยานยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นแบรนด์แรกที่เข้ามาในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 5 "เพราะจดหมายเหตุฉบับหนึ่ง รายละเอียดอยู่ในหนังสือที่ผมเขียน ศึกษาค้นคว้าแล้วไปเจอ" และจักรยานคันนี้เองเมื่อหลายปีก่อนเคยมีสื่อเล่มหนึ่งได้เสนอข่าวว่าเขาจะขาย ถ้าผู้ซื้อเสนอราคา 7 หลัก

อาจารย์ทวีไทยเล่าว่า"ไม่รู้ใครพูดเรื่องราคา จริงๆ ผมอยากเป็นพ่อค้าที่ไม่ได้ขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 15 บาท อยากขายชามละ 90 ขายแต่เช้า 9 โมงเช้าต้องแขวนป้ายหมดแล้ว คำว่าแพงผมไม่รู้ว่าใครนิยาม ตอนนี้สื่อมันมาก บางทีผมไม่ได้พูดหรือคิดแบบนั้น หรือถ้าผมคิด เขาก็ไม่ได้ถามผมด้วยซ้ำว่าคิดแบบนั้นจริงหรือเปล่า"

มีจักรยานเป็นพันคัน การซ่อมบำรุงของอาจารย์ทวีไทยทำอย่างไร "การซ่อมบำรุงมีลูกมือ ส่วนใหญ่ไม่ได้ซ่อม ถ้าแขวนแล้วเราจะเฉยๆ บางคันอาจยกลงมาทาน้ำมันบ้าง ไม่ได้เป็นภาระหนักหนา ต้นไม้เสียอีกที่ต้องรดน้ำทุกวัน จักรยานนี่ไม่ได้นั่งเช็ดทุกวัน ผมไม่ต้องการประกวดหรืออวดใคร จึงไม่ต้องเช็ดเส้นลวดทุกเส้น"

ปรัชญาจากรถถีบ

สำหรับอาจารย์ทวีไทยจักรยานเปิดโลกของเขาหลายด้าน "มันเป็นเพียงแค่เป็นตัวแทนแนะนำให้เข้าใจอะไรหลายอย่าง เรื่องชีวิต ปรัชญา ระบบการค้า เส้นทางของการเปลี่ยนผ่าน มันให้ข้อมูลกับเราได้ ไม่ถึงขนาดมาสั่งสอน เพราะเราก็ไม่อยากให้ใครมาสอนโดยวิธีการง่ายๆ ว่า ต้องทำแบบนี้ควรรู้แบบนี้"

ถึงวันนี้หลังจากเปิดมาได้หลายปี ผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาเยือนบ้านจักรยาน... "ผมทำบ้านจักรยานไม่ต้องการทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่จริงๆ เป็นของสะสม ซึ่งผมสะสมมาแล้ว 20 กว่าอย่าง จักรยานก็แค่ 1 ใน 20 อย่าง เหมือนกับผมปลูกต้นไม้ มีรั้วรอบขอบชิด มีบ้าน แสดงความเป็นเจ้าของ ใครอยากมาดูก็ขออนุญาต ก็เชิญเข้ามา...ถ้าอยากดูลึกกว่านั้นว่าไอ้นี่อย่างที่พูดจริงหรือเปล่า บางทีลงหนังสือไป คนก็บอกว่ารู้ไม่จริง เราก็ว่ารู้แค่ที่รู้ ไม่สามารถหยั่งจักรยานอายุ 90 หรือ 100 ปีได้ เราใช้อนุมาน ก็มาคุยกันเพื่อเสริมให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะเราค้นคว้ามาได้แค่นั้น มีข้อมูลอยู่แค่นั้น เราอาจบกพร่อง แต่ไม่ใช่ไปตำหนิหรือด่าเราว่าไอ้นี่ไม่จริง ซึ่งคนเหล่านั้นเราไม่ได้ว่า เพียงแต่ว่าเขาไม่มาคุยกัน มองเราแค่ผิว"

เปิดให้ดูตามสะดวกขนาดนี้ แน่นอนพวกไม่หวังดีก็เข้ามาด้วย"คนเข้ามาร้อยแปดกระทั่งขโมย เราดูแลเท่าที่เรามี ไม่ใช่ว่ามาซื้อเสียเงินแล้วต้องโอ๋เขา เราก็เฉยๆ เพราะคิดว่าเรามีดอกไม้งามแล้วคนอยากดู คุณก็ดู ชื่นชมไปสิ บางทีก็บอกเขาว่า เปิดบ้านให้คนมาเยี่ยม มาเยี่ยว มาขี้ก็พอแล้ว ถ้ามาขโมยก็หนักข้อไปหน่อย" อาจารย์ทวีไทยเล่าถึงขโมยขโจร

แต่ถ้าใช้คำว่าศิลปินกับเขา ทวีไทยจะไม่ยอมรับ "ผมไม่ใช่ศิลปินนักสะสม แค่พอใจอาชีพและความรู้มากกว่า จะให้อะไรเราไม่ได้เป็นสาระ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนเก่าดีเด่น มันเป็นเปลือกไม่ใช่แก่น แก่นอยู่ที่ความสูงสุดไม่ใช่รางวัล แต่ว่าสิ่งที่เราเป็นเหนือกว่าตรงนั้น ไม่ได้ต้องการให้ใครยกย่องเราด้วยแผ่นกระดาษ ถ้วยรางวัล"

ส่วนเรื่องจักรยานที่ส่วนมากย้ายนิวาสสถานไปอยู่บ้านของนักสะสมซะมาก แม้จะเหลืออยู่ตามชนบทและหมู่บ้านต่างๆ นิดหน่อยนั้น อาจารย์บอกเราว่า "มันพัฒนาตามสังคม ให้คึกคักก็ทำได้ แต่มันจะเป็นเฉพาะวันอาทิตย์ วันที่มีมหกรรมกรุงเทพฯ วันที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรม...แต่คนที่เขาใช้เป็นชีวิตประจำวันก็มี เราไม่ต้องบอกว่าให้ขี่ทุกวัน เพราะเขากลัวถูกรถบี้ มองระบบการจราจรเป็นหลัก"

ก่อนทิ้งท้าย "เขาพยายามให้ผมเป็นพิพิธภัณฑ์โดยไม่ถาม เป็นวัฏจักรการจัดระบบท่องเที่ยวโดยปราศจากยั้งคิด อะไรเป็นสองชิ้นบอกเป็นพิพิธภัณฑ์เลย ผมไม่ต่อต้าน แต่แปลกใจว่าทำไมป้ายคำว่าบ้านจักรยานจึงมีไม่ได้ ขณะที่ป้ายกอล์ฟป้ายโรงอาบอบนวดมี แต่ป้ายอะไรที่เป็นจุดให้ความรู้กลับกัน"

"ถ้าผมทำป้ายปกติต้องเสียภาษี ทำไปแขวนเองก็ป้ายเถื่อน ทั้งที่ป้ายอื่นๆ อย่างอาบอบนวดติดได้ ผมทำของผมพอควรแล้ว...ข้างบนจะเห็นจักรยานอยู่บนหลังคา คนถามว่ามาบ้านจักรยานยังไง ก็บอกว่าดูสิ นั่นล่ะเป็นป้าย นี่บ้าน แล้วนั่นจักรยาน นี่คือบ้านจักรยานครับ"

ก่อนลาอาจารย์เราพลางคิด มรดกที่ท่านจำกัดความว่า "เกิดจากตัณหา" ชิ้นนี้ มีประโยชน์มากมายทีเดียวสำหรับคนรักรถถีบ และอนุชนรุ่นหลัง

******

ผู้สนใจสามารถไปเยี่ยมชมบ้านจักรยานได้นั่งรถประจำทางหรือรถส่วนตัวไปทางขนส่งสายใต้ แล้วกลับรถหรือข้ามสะพานลอยไปหน้าเซเว่นอีเลฟเว่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปถนนชัยพฤกษ์ตรงไปยังซอยสวนผัก 6 บ้านจักรยานจะอยู่ทางซ้ายมือหลังจากเข้าซอยไปแล้วประมาณ 20 เมตร

บ้านจักรยานนอกจากจะมีจักรยานโบราณนานาชนิดแล้ว ยังมีของเก่าอย่างอื่นให้เราได้ชมด้วย ก่อนไปสามารถศึกษาข้อมูลความเป็นมาของจักรยานเพื่ออรรถรสในการชมโดยดูเนื้อหาจากนิตยสารสารคดีฉบับ ปีที่ 15 (2543)ฉบับที่ 179 เรื่อง "การกลับมาของรถถีบ" ของวุฒิชัย ชุ่มสนิท (บินหลา สันกาลาคีรี) หรือจะอ่าน "จักรยานโบราณ" ของอาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์" ก็จะยิ่งเจาะลึกเรื่องราวได้มากขึ้น

http://202.57.155.216/Daily/ViewNews.as ... 0000015539



http://www.kamoman.com/04/003/n02/bicy.html

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
แก้ไขล่าสุดโดย o_PAO เมื่อ อาทิตย์ พ.ย. 20, 2005 8:16 pm, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_PAO
 
โพสต์: 20125
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ต.ค. 08, 2005 6:13 pm
ที่อยู่: 11 หมู่ 2 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม 10520

โพสต์โดย o_PAO » พุธ พ.ย. 09, 2005 1:17 pm

เก็บไว้ไม่ให้ลืม

ณ บ้านพิพิธภัณฑ์

รูปภาพ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 ธันวาคม 2545 14:05 น.


"เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า" เป็นคำพูดที่ใช้ในบ้านพิพิธภัณธ์ ถ้าทุกอย่างไม่มีการเก็บพวกเราคงไม่รู้หรอกว่าวิถีชีวิตคนเมืองในช่วงเวลาหลัง 50 ปีเป็นอย่างไร คนรุ่นหลังก็คงยากรู้ไม่มากก็น้อย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบ้านพิพิธภัณธ์นี้ขึ้นเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่พวกเราไม่สามารถจะหาชมได้อีกแล้ว เพื่อไว้ให้ลูกหลานเราศึกษา ถึงวิถีชีวิตของคนในสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยในบ้านพิพิธภัณธ์จะตะอบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิตคนเมืองในสมัยก่อน ภายในบ้านหลังนี้แบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นได้จัดเป็นส่วนๆ

โดยชั้น 1 แสดงถึงวิถีชีวิตคนเมืองภายในตลาด แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ทางด้านขวามือเป็นมุมของร้านกาแฟ ในชื่อ เฮงฮวด ถึงเป็นร้านกาแฟ ไม่ใช้ว่าขายแต่กาแฟ เพราะในร้านแห่งนี้ยังขายพวก น้ำอัดลม บุหรี่ เหล้า หรือแม้แต่อาหารกระป๋อง ก็ยังมี ภายในร้านยังมี"เก้าอี้เชกโก" แบบที่เห็นในร้านกาแฟเมื่อ 40 - 50 ปีก่อน ส่วนเคาน์เตอร์เป็นการทำเลียนแบบร้านกาแฟในตลาดบ้านใหม่ ของ จ. ฉะเชิงเทรา

รูปภาพ

ที่ซื้อโปสการ์ดหนังเก่าและร้านกาแฟเฮงฮวด


ข้างๆ กันมีหม้อต้มกาแฟทองเหลืองในปี พ.ศ. 2500 หรือใครที่ชอบดูของแปลกอย่าง น้ำอัดลมที่นี้เขามียี่ห้อแปลกๆ เช่น Kiss , coscd, Double Happy อยู่ในลังไม้เก่าๆ หรือนมข้นตรามงกุฎ ตราวัว ที่นี้เขาก็มีแต่ดูได้แต่กินไม่ได้นะคะ บรรยากาศในร้านยังมีเพลงเก่าๆ ให้ฟังอยู่ตลอดเวลา ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านทำผมที่สมมุติให้ชื่ออรุณเกศา ภายในประกอบไปด้วย กระจกบานใหญ่ เกาอี้นั่งตัดผม และเครื่องอบผม แถมมีลูกอมเขียนบอกว่าให้กินฟรีแต่คงไม่มีใครกล้ากินเพราะบรรยากาศออกจะหน้ากลัวนิดๆ หน้าร้านตัดผมจะมีจักรเย็บผ้าเพราะเขาเปิดเป็นร้านตัดเสื้อ มีเกาอี้ไม้ให้นั่งคอยขอบอกว่าเกาอี้อะไรไม่รู้นั่งสบายจัง

ไปดูด้านขวาแล้วทีนี้มาดูด้านซ้ายกันบ้างเป็นร้านขายยาที่มีเสน่ห์มากเพราะมีตู้ยา ลิ้นชักยาล้วนเป็นไม้ ภายในลิ้นชักยังมีตัวยาใส่อยู่ ขวดยาและกล่องยาสวยๆ และยังเป็นร้านที่ขายยาจริงๆ อยู่ในจังหวัดอุทัยธานี ชื่อจี้มิ้นขายยา เจ้าของยกให้เพราะไม่ต้องการให้ข้าวของกระจัดกระจาย นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีรางบดยาอายุประมาณ 70 ปี หรือเครื่องกรอฟันใช้เท้าเหยียมอายุประมาณ 80 ปี ถ้าเป็นเดียวนี้คงไม่มีใครกล้ากรอหรอกแค่เห็นก็กลัวแล้ว

รูปภาพ
ทางขึ้นชั้น 2 เป็นการสมมุติให้เป็นร้านขายของใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ประเภท สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก และอีกหลายอย่าง มุมนี้จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์ เพราะจะมีการตั้งไว้เปรียบเทียบว่าของเก่าเป็นอย่างไรและในปัจจุบันใช้อย่างไร หรือเมื่อขึ้นไปถึงชั้น 2 จะเจอกับร้านถ่ายรูปมีกล้องถ่ายรูปในแบบต่างๆ ไว้ให้ดู อย่างเช่น ระบบกล้องรูเข็ม ซึ่งเป็นกล้องถ่ายรูปรุ่นเก่าชนิดที่เคยใช้กันในร้านรับถ่ายรูปทั่วไป ถัดไปอีกนิดเป็นการจำลองห้องครัวที่แสดงถึงวิถีชีวิตคนไทยในสมัย ร.7 ประกอบไปด้วยตู้กับข้าวที่ทำจากไม้สัก ถ้วยโถโอชาม และอุปกรณ์การทำขนมไทยๆ อย่างเช่น กระทะทองเหลือในขนาดต่างๆ เหล็กตีไข่ แป้นรองรับน้ำอ้อย กระต่ายจีน ถังตักน้ำ ซึ่งของทุกอย่างยังอยู่ในสภาพที่ใช้การได้อยู่ ตั้งเรียงรายไว้อย่างน่ามอง


อีกมุมที่น่าสนใจ เป็นการแสดงของเล่นเด็กหรืออะไรที่เกี่ยวกับเด็ก เช่น เครื่องบินในแบบต่างๆ รูปทรงแปลกตา หรือเป็นรถลากที่ทำด้วยไม้มีม้าลาก ใครที่ชอบปืนที่นี้ก็มี และที่เป็นความรู้ใหม่เมื่อก่อนมีเครื่องไล่หนู่และแมลงสาปโดยใช้ความถี่สูงเป็นเครื่องที่ผลิตนานมากแล้วตั้งแต่ปี 2514 - 2521 และใครที่ไม่เคยเห็นตู้ถ้ำมอง ที่สามารถมองเห็นภาพสามมิติเปลี่ยนไปมาเพียงแค่ดึงเชือกใต้ตู้ เป็นตู้ที่สร้างจากแบบของจริงในสมัยเมื่อ พ.ศ.2392 ปลายสมัย ร.3 หรือแบบสอนอ่านพยัญชนะก ไก่ พิมพ์เมื่อ 2509 ถัดมาเรื่อยๆ ยิ่งน่าสนใจใหญ่ เพราะใครที่ชื่นชอบสลากกินแบ่งรัฐบาลที่นี้เขามีให้ดูตั้งแต่ ปี 2496 หรือสลากเก่าที่น่าสนใจอย่าง "ลอตเตอรีเสือป่าล้านบาท"ออกเมื่อสมัย ร.6 หรือพ.ศ.2467 ยังมีสลากงวดที่หายากอย่าง "ลอตเตอรีสภากาชาดสยาม"ปี 2476 "รัฐธรรมนุญแห่งสยาม " ปี 2476 ที่มีรูปพานรัฐธรรมนุญตรงกลาง สลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้มีเท่านี้ ยังมีที่น่าสนใจอีกเยอะทีเดียว ถ้าใครสนใจจริงๆ น่าไปดูมาก


ขึ้นไปชั้น 3 ดีกว่า ชั้นนี้พึ่งเปิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ใหม่ๆ สดๆ เลย โดยชั้นนี้ได้จัดเป็นที่ว่าการนายอำเภอสีหนคร หรือห้องเรียนหนังสือมีแบบเรียนเก่าๆ ที่ตอนนี้เขาเลิกใช้แล้ว เช่น หนังสืออ่านประกอบเรื่อง นกกางเขน หรือ ในนามีข้าว และที่เป็นเอกลักษณ์ของนักเรียนสมัยก่อนคงเป็นไม้เรียว ใครโดนคงเจ็บน่าดูเพราะทั้งเล็กทั้งเรียว อีกมุมของชั้นนี้เป็นของนักฟังเพลง แต่ต้องเป็นเพลงเก่าหน่อย เพราะเป็นแผ่นเสียงของ ชรินทรโชว์ โดยชรินทร์ นันทนาคร หรือเพลงพี่รักเธอไม่คลาย จากสุเทพ วงค์กำแพง นี้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น

ด้านเอนก นาวิกมูล ผู้เป็นเจ้าของบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้กล่าวถึงบ้านหลังดังกล่าวว่า บ้านพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นได้จากการดำเนินการโดยสมาคมเล็กๆ ที่ชื่อสมาคมกิจวัฒนธรรม และเริ่มเปิดเป็นทางการเมื่อ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 และเป็นการทำงานโดยอาศัยอาสาสมัครเพราะไม่มีเงินเดือนให้ จึงต้องเปิดเฉพาะวันหยุด เสาร์ - อาทิตย์ เท่านั้น เพื่อให้อาสาสมัครได้ทำงานของตนเอง คนที่มาทำงานตรงนี้ได้ต้องมีใจรักจริงๆ เพราะต้องสละเวลาให้กับงาน

ส่วนโครงการต่อก็ยากทำ แต่ต้องมีทำเลที่ดี ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก และที่สำคัญต้องมีเงินในการลงทุน บ้านพิพิธภัณฑ์ที่สำเร็จมาได้ก็เป็นการช่วยกันในหลายๆ ฝ่าย ที่ดินหรือสิ่งของบางอย่างก็ได้รับบริจาคมาบางอย่างต้องซื้อหามาเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ หรือแม้แต่การตกแต่งภายในบ้านพิพิธภัณฑ์ ก็ได้คณะมัณฑนศิลป์ของศิลปากรมาออกแบบให้โดยไม่คิดเงิน ถือว่าเป็นการช่วยกัน ส่วนรายจ่ายของบ้านพิพิธภัณฑ์ตกแล้วประมาณ10,000 บาท / เดือน ส่วนรายได้ก็พอถั่วเฉลี่ยกันไป เอนกยังอยากให้มีพิพิธภัณฑ์อย่างนี้อีกสัก 3 จังหวัด ส่วนใครที่จะบริจาคของก็บริจาคได้ที่นี้จะเป็นเหมือนโกดังเก็บของให้คุณ และเราให้คุณค่ากับของทุกชิ้น ไม่มีชิ้นไหนที่หายากหรือหาง่าย ก็อย่างที่บอก "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

สำหรับใครที่สนใจจะมาชมวิถีชีวิตของคนไทยในแบบฉบับเมื่อ 50 ปีที่แล้วก็ไม่ควรพลาดโอกาสนี้ และทางบ้านพิพิธภัณฑ์เขาก็เปิดให้เข้าชมกันทุกวัน เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 10.00 - 17.00 น. โดยเสียค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท(เด็กโต) สามารถเดินทางด้วยรถเมล์สาย ปอ.515 , 19 , 123 โดยลงที่ถนนต่อจากพุทธมนฑลสาย 2 ด้านทางรถไฟ (ถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร. 0-2869-6281


รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_PAO
 
โพสต์: 20125
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ต.ค. 08, 2005 6:13 pm
ที่อยู่: 11 หมู่ 2 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม 10520

โพสต์โดย o__Sam » พุธ พ.ย. 09, 2005 2:21 pm

ถ้าจะไปผมก็ไปนะ แต่ไม่ขอเป็นตัวตั้งตัวตีนะงานนี้ :D เห็นแล้วอยากได้จักรยานโบราณซักคน
ภาพประจำตัวสมาชิก
o__Sam
 
โพสต์: 3655
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ต.ค. 10, 2005 10:52 am
ที่อยู่: BKK

โพสต์โดย o_lekpn » พุธ พ.ย. 09, 2005 5:19 pm

ไปครับไป ไปวันอาทิตย์น้า :lol:
รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_lekpn
 
โพสต์: 12266
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ต.ค. 08, 2005 8:39 pm
ที่อยู่: 98 ถ.นนทรี ช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ

โพสต์โดย o_cokeyuth » พุธ พ.ย. 09, 2005 5:40 pm

ไปไหนไปกัน แต่ไม่มีรถนะจะ ขอโบกไปด้วย วันอาทิตย์...เวิร์ค :wink:
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_cokeyuth
 
โพสต์: 7846
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ต.ค. 10, 2005 10:02 am
ที่อยู่: สระบุรี

โพสต์โดย o_PAO » พุธ พ.ย. 09, 2005 6:50 pm

Sam เขียน:ถ้าจะไปผมก็ไปนะ แต่ไม่ขอเป็นตัวตั้งตัวตีนะงานนี้ :D เห็นแล้วอยากได้จักรยานโบราณซักคน


ไม่ถูกนะจ๊ะ คันละเหยียบหมื่น ที่บ้านอาจารย์รู้สึกว่าเขาจะมีขายด้วย

งานนี้เกิดจากไอเดียคุณเหน่งนะครับ โทรมาชวนผมไป ผมก็เลยบอกว่าขอลองมาโพสชวนในบอร์ดละกัน เผื่อจะมีหลายคนอยากไปด้วย

ใครอยากไปลงชื่อมาครับ จะได้ดูจำนวนคน จำนวนรถ ถ้าไปกันหลายคนจะได้โทรแจ้งอาจารย์ทวีไทย กับคุณเอนก ถ้าไปบ้านคุณไก่อูทัน ก็จะได้ประสานงานไปทางนู้นด้วย คราวนี้เป็นทัวร์ย่อยกระขับความสัมพันธ์ คงมีเวลพูดคุยกันมากขึ้นกว่าทัวร์โค้กเวิร์ล

เรื่องรถผมก็ไม่มีนะ :D ขอห้อยไปด้วยเหมือนเดิม
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_PAO
 
โพสต์: 20125
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ต.ค. 08, 2005 6:13 pm
ที่อยู่: 11 หมู่ 2 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม 10520

โพสต์โดย o_น้ำมะเน็ด » พุธ พ.ย. 09, 2005 8:22 pm

อาทิตย์นี้ไปไม่ได้...แงๆ..ไปได้อาทิตย์หน้า...

...บ้านจักรยาน...ไปมา 3 ครั้งไม่เจออาจารย์เลยสักครั้ง

ถ้ายังไม่เคยไปอาจหลงได้...แนะนำว่าเข้าซอยสวนผักแล้วถามคนแถวนั้น

ถ้าไม่รู้จักบ้านจักรยานก็ให้ถามหา...สำนักงานขนส่ง..แต่บ้านอาจารย์ถึงก่อน

อยู่ฝั่งเดียวกัน..

ส่วนบ้านพิพิธภัณฑ์...ต้องกางแผนที่ไปน่ะถูกต้องแล้ว...ไม่งั้นมีหลง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว...ถ้าผ่านโค้กเวิร์ลมาแล้ว...ทุกที่ใกล้หมด.. :lol: :lol:
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_น้ำมะเน็ด
 
โพสต์: 6076
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ต.ค. 09, 2005 6:06 pm
ที่อยู่: CokeThai.com

โพสต์โดย o_PAO » พุธ พ.ย. 09, 2005 8:26 pm

ยังไม่ไปอาทิตย์นี้นะ รอคนพร้อมๆก่อน แล้วนัดกันอีกที ดวงติดใจอะไรเหรอ ไปมาตั้งสามครั้ง :)
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_PAO
 
โพสต์: 20125
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ต.ค. 08, 2005 6:13 pm
ที่อยู่: 11 หมู่ 2 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม 10520

โพสต์โดย o_superantz » พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2005 12:16 am

อยากไปเหมือนกันครับ ยังไม่เคยไปเลย เคยได้ยินแต่เค้าเล่า กับเห็นแต่ในหนังสือน่ะครับ

ยังงัย ถ้าจะไปกันจริงๆ แล้วผมว่าง ขอไปด้วยคนแล้วกันน่ะครับ :lol:
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_superantz
 
โพสต์: 3304
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ต.ค. 09, 2005 1:25 am
ที่อยู่: ลาดพร้าว

โพสต์โดย o_PAO » พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2005 2:07 am

รวบรวมรายฃื่อนะครับ

1.คุณหน่อง
2.เปา
3.พี่ยุทธ
4.แซม
5.คุณเล็กpn
6.ดวง (น้ำมะเน็ด)
7.โจ้ (superantz)

คร่าวๆก็ เราจะไปกันวันอาทิตย์ ส่วนอาทิตย์ไหนก็มาว่ากันอีกที
โปรแกรมก็จะไปบ้านจักรยาน บ้านพิพิธภัณฑ์ ถ้าทันก็น่าไปบ้านหรือร้านคุณไก่อูที่นครปฐมอีกที่นึง ใครสนใจก็ร่วมลงชื่อเลยครับ ไม่มีรถก็ไม่เป็นไร เพราะดูจากชื่อข้างบนก็มีรถกัน 5 คนเข้าไปแล้ว :D คนใหม่ๆที่ไม่เคยร่วมกิจกรรมกับพวกเราก็มาจอยกันในครั้งนี้ซะเลยครับ อ้อ แถวนั้นอะไรอร่อย หรือมีที่ไหนน่าไปอีกก็ช่วยเสนอกันหน่อยนะครับ :D
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_PAO
 
โพสต์: 20125
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ต.ค. 08, 2005 6:13 pm
ที่อยู่: 11 หมู่ 2 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม 10520

โพสต์โดย o_cokedevil » พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2005 12:17 pm

สงสัย งานนี้ คงไปไม่ได้ เห้อ เทอมนี้ ผมต้องเรียน วันอาทิตย์ ทั้งวันเลยอะ :cry:
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_cokedevil
 
โพสต์: 549
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ต.ค. 09, 2005 11:50 pm
ที่อยู่: กรุงเทพ

โพสต์โดย o_lekpn » พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2005 6:06 pm

Mart เขียน:สงสัย งานนี้ คงไปไม่ได้ เห้อ เทอมนี้ ผมต้องเรียน วันอาทิตย์ ทั้งวันเลยอะ :cry:


ไม่เป็นไรเด๋วเอาภาพมาฝาก :lol:
รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_lekpn
 
โพสต์: 12266
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ต.ค. 08, 2005 8:39 pm
ที่อยู่: 98 ถ.นนทรี ช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ

โพสต์โดย o_PAO » พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2005 7:14 pm

คุณหน่องมีเบอร์โทรคุณไก่อูที่นครชัยศรีนะครับ สามารถโทรไปคอนเฟิร์มได้ ตกลงเราก็คงไปกันสามที่เลย :D ใครอยากไปมาลงฃื่อเลยครับ :D
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_PAO
 
โพสต์: 20125
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ต.ค. 08, 2005 6:13 pm
ที่อยู่: 11 หมู่ 2 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม 10520

ขอแจม

โพสต์โดย คอกระป๋อง » พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2005 9:39 pm

:shock: ไปวันไหนกันพี่ ถ้าวันอาทิตย์สงสัยต้องดูฤกษ์ก่อน เพราะมีสอนอ่ะ แย่สลืมถ่ายรูปมามั่งนะพี่ งานนี้กอดคอชวดกับมาร์ทตามระเบียบค่ะ :cry:
ภาพประจำตัวสมาชิก
คอกระป๋อง
 
โพสต์: 492
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ต.ค. 16, 2005 6:34 pm
ที่อยู่: ซอยวิภาวดีรังสิต ดินแดง กทม.10400

โพสต์โดย o_น้ำมะเน็ด » พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2005 10:45 pm

PAO เขียน:ยังไม่ไปอาทิตย์นี้นะ รอคนพร้อมๆก่อน แล้วนัดกันอีกที ดวงติดใจอะไรเหรอ ไปมาตั้งสามครั้ง :)


ตอนแรกก็แวะไปชมพวกขวดเก่าๆ...พวกขวดน้ำมะเน็ด..แบบมีลายตอนนั้นยังไม่มี

และก็ได้ตลับยาหม่องมาหลายอันอยู่...เขาเรียงใส่ตู้สวยเชียว...อันไหนซ้ำซื้อได้

พวกจักรยาน..รถโบราณก็น่าสนใจดี...แต่ตอนนี้ไม่รู้เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า

ไม่ได้ไปเป็นปีแล้ว

ถ้าไปอาทิตย์ที่ 20 น่าจะได้อ่ะ
ภาพประจำตัวสมาชิก
o_น้ำมะเน็ด
 
โพสต์: 6076
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ต.ค. 09, 2005 6:06 pm
ที่อยู่: CokeThai.com

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง TRAVEL / ACTIVITY & EVENTS

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน

cron