พบกับข้อมูลเด็ดที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนเป็นการวิเคราะห์และแกะเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับเอื้อนไทยเดิม
ซึ่งเก่าแก่ที่สุดบนแผ่นเสียงปาเต๊ะสยามและออกในสมัยรัชกาลที่ ๕
โดย รศ.ดร. ร้อยเอก นพ. ชยันตร์ธร ปทุมานนท์ และ รศ. ชไมพร ทวิชศรีที่มาของความพยายามในการสกัดเนื้อร้องเพลงสรรเสริญฉบับแม่แป้นและแม่ปุ่มในวันที่รายการ ?คุณพระช่วย? นำสารคดีประวัติเพลงชาติไทยมาออกรายการ มีอยู่ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับแรกๆ และมีการร้องสดประกอบ ผม (ชยันตร์ธร) รู้สึกว่าเนื้อเพลงที่ร้องไม่ตรงกับที่เคยได้ยินคุณพ่อ (ชลอ ปทุมานนท์ : 2450-2519) ร้องให้ฟัง จึงสงสัยว่าเพลงสรรเสริญมีเนื้อร้องว่าอะไรกันบ้าง ได้นำเรื่องนี้มาเล่าให้อาจารย์ชไมพรฟัง ซึ่งได้ยุให้เปิดเข้าไปหาดูใน google.com จึงได้พบ website ชื่อ
http://www.talkingmachine.org ของอาจารย์พฤฒิพล ประชุมผล และมีโอกาสได้ยินเพลงสรรเสริญฉบับแม่แป้นและแม่ปุ่มเป็นครั้งแรก
ในครั้งแรกเราฟังกันไม่รู้เรื่องเลย ยังหัวเราะกันว่าถ้าจะเป็นภาษาจีนหรือภาษาญวน เพราะบางตอนร้องด้วยเสียงแสบหูคล้ายสำเนียงงิ้ว จึงได้ save website ไว้ และเอามาเปิดฟังแล้วหัวเราะกันบ่อยๆ ปรารภกันว่าแม่แป้นและแม่ปุ่มร้องว่าอะไรกันแน่ ทำไมฟังไม่รู้เรื่องเลย ต่างคนต่างไปเปิดฟังกัน หลายต่อหลายเที่ยว เรียกว่าเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์คาไว้ตลอดเวลา แม้แต่เวลาพักรับประทานอาหารกลางวันก็ยังเปิดฟังกัน จนนักศึกษาแอบมาถามว่า ?อาจารย์เปิดเพลงอะไรครับ ฟังวังเวงน่ากลัวจังเลย?
พอเริ่มจับคำได้ก็เอามาคุยกันว่า ฟังได้ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ และตั้งใจจะหาคำตอบให้จงได้ ลองเอามาเขียนลงบนกระดาษ ที่ยังไม่รู้ก็เว้นเอาไว้ จนอาจารย์ชไมพรพอจับความได้ว่าประโยคแรกร้องว่า ?จงเจริญอายุท่าน สันละนา? จึงเริ่มสงสัยกันว่าเป็นคำประพันธ์ประเภทไหน ด้วยเท่าที่เคยเห็นก็ไม่น่าจะหนี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน หรือจะเป็นร่าย หรือการด้นคำไปเรื่อยโดยไม่มีโครงสร้าง ลองคิดกันว่าอาจเป็นกลอน 8 แต่นับกันไปนับกันมา จำนวนคำและสัมผัสเสียงไม่ลงล็อกของกลอน 8 กาพย์ยานีก็ไม่ใช่ ฉันท์ก็ไม่น่าเป็นไปได้เพราะบังคับเสียงสั้นยาวมากจนไม่น่าจะนำมาทำเป็นเพลงได้ ร่าย ด้น ก็ไม่น่าใช่เพราะคนโบราณน่าจะชอบคำประพันธ์ที่มีโครงสร้างเป็นระเบียบชัดเจน จึงเดาว่าคงเป็นโคลงสี่สุภาพแน่ เพราะนับคำของประโยคแรกแล้ว สอดคล้องกันกับโคลงสี่สุภาพได้ดี ได้นำโครงสร้างของโคลงสี่สุภาพมาเขียนเป็นไดอะแกรม แล้วลากสัมผัสเสียงตามข้อกำหนด ดังนี้
นำคำที่เดาได้มาใส่ในช่อง คำที่ยังจับเค้าไม่ได้ก็ฟังต่อ แล้วใช้วิธีเดาจากจินตนาการ โดยพิจารณาจาก1) ความใกล้เคียงกับเสียงที่ร้อง
2) ข้อกำหนดของโคลงสี่สุภาพ คือ สัมผัสนอกที่บังคับเสียง สัมผัสใน (คล้องเสียงและพยัญชนะต้นของคำ) และการประวรรณยุกต์เอก (หรือเสียงวรรณยุกต์เอกหรือคำตายเสียงสั้น) หรือวรรณยุกต์โท (หรือเสียงโท) และ
3) ความหมายของคำและของประโยค
จากการถอดคำร้องออกมาเป็นคำเขียน เราฟังได้ว่าแม่แป้นและแม่ปุ่มร้องว่า
?นายห้างปาเต๊ะ ให้แม่แป้นและแม่ปุ๋ม ล้องเพลงสันละเสิน?
?จงจ่าเรินอ่ายูฮู้ทั่น (เออเอ่อเออเอ่ย) สั่นละนา มี (ฮี้ฮีฮี้) สุกทุ่กเวล้า (เอ๊อเออเอ๊อเอย) ลาฮับลน พร้อ (ฮ้อฮอฮ้อ) พอน ว้าลี (ฮี้) หว่ารา (เอิงเงย) ซี้รีซาหวัด (เออเอ๊อเออเอ๊อ) เท่พะชวย (เออเอ๊อเออเอ๊อเออเอ่อ เอ๊ย) อวย ข้าวันค่น (เอิ๋งเหง่ย) ตอม (เออเอ๊อเอ่อเออ) สิน สิ่งปราโส (เงย)?
เนื่องจากผม (ชยันตร์ธร) ทราบจากคุณพ่อซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีไทยเดิม เพราะคุณย่า (ชุ่ม อาภาภิรมย์ : 2410-2500) เป็นโต้โผละครวงใหญ่ในสมัยโบราณ (น่าจะสมัยเดียวกับแม่แป้นและแม่ปุ่มนั่นเอง) ว่าการร้องเพลงไทยแบบโบราณ (โบราณจริงๆ) คำนึงถึงทำนองเสียงเพลง (melody) เป็นหลัก ไม่มีการปรับเอื้อนให้เข้ากับเสียงวรรณยุกต์ของคำเหมือนกับเพลงไทยสมัยมีกรมศิลป์ฯ (โบราณแบบใหม่แล้ว) อีกทั้งการตัดคำตัดประโยคก็ปล่อยให้เป็นไปตามคนร้อง ไม่บังคับปรับรวบคำหรือรวบประโยคเหมือนกับเพลงสมัยมีกรมศิลป์ฯ และเมื่อนำมาเรียบเรียงให้อยู่ในรูปของโคลงสี่สุภาพแล้ว ได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็นดังนี้

?นายห้างปาเต๊ะ ให้แม่แป้นและแม่ปุ่ม ร้องเพลงสรรเสริญ?
?จงเจริญอายุท่าน สรณา
มีสุขทุกเวลา ลับล้น
พร้อมพรวลีวรา สิริสวัสดิ์
เทพช่วยอวยขวัญค้น ตอบสิ้น สิ่งประสงค์?
ซึ่งอ่านได้ใจความดี มีความสละสลวยทางภาษา และไม่ละเมิดข้อกำหนดโคลงสี่สุภาพ ลองนำกลับมาร้องตาม ก็ได้ตามนั้น
มีอยู่ 2 แห่งที่เรายังไม่ปักใจในข้อสรุป คือ1) ?สรณา? อาจเป็น ?สราญนา? ก็ได้ และ
2) ?พร้อมพร? อาจเป็น ?พระพร? ก็ได้ เพราะฟังดูก้ำกึ่ง
จึงอยากให้ท่านที่อ่านข้อความนี้ ช่วยกรุณาแสดงความเห็นด้วยอย่างไรก็ดี ผลงานทั้งหมดที่เราสกัดออกมาได้นี้ เราก็ยังไม่ยืนยันว่าของเราถูกต้องแล้ว บางท่านอาจเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้ จึงอยากเปิดให้สาธารณชนได้มีส่วนแสดงความเห็นและช่วยกันหาข้อสรุปเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของคนรุ่นหลัง
สิ่งที่เราอยากทิ้งท้ายไว้ให้ช่วยกันหาคำตอบต่อก็คือ1. ถ้าเพลงสรรเสริญฉบับแม่แป้นแม่ปุ่มร้องอย่างที่ว่านี้จริง จะสังเกตว่าไม่มีคำราชาศัพท์ตรงไหนที่จะชี้นำให้เห็นว่าเป็นเพลงที่ร้องถวายในหลวงเลย เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพลงนี้เป็นเพลงสรรเสริญเฉยๆ ไม่ใช่สรรเสริญพระบารมี ที่อาจร้องหรือบรรเลงให้กับเจ้านายเชื้อพระวงศ์หรืออาจไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ และการที่เนื้อเพลงฉบับนี้หายสาบสูญไป เป็นเพราะได้นำทำนองเพลงมาปรับเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างถาวรในรัชกาลต่อมาหรือไม่ จึงไม่มีผู้ใดบังอาจนำไปใช้กันโดยทั่วไปอีก
2. ประวัติที่มาของเนื้อร้องฉบับนี้ เราไม่พบว่ามีผู้ใดนำขึ้นเผยแพร่เลย จึงขอร้องให้ผู้ที่มีข้อมูล ได้นำออกเผยแพร่เพื่อสาธารณชนด้วย จะได้ทราบว่า ใครแต่ง แต่งให้ใคร ในโอกาสใดบ้าง
3. ทำนองที่ร้องเป็นทำนองเดียวกับเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบัน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นทำนองที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงให้ครูแตรวงเขียนตามเค้าเพลงที่ทรงได้ยินมาจากสิงคโปร์ จึงน่าจะเป็นเพลงแบบฝรั่ง เพราะถ้าจะว่าเป็นการปรับเอาทำนองเพลงไทยของเดิมมา ก็เหมือนจะไม่มีเค้าเพลงไทยของเดิม เพราะลักษณะการลงจังหวะ ลูกระนาด ฟังดูยังไม่เป็นระบบที่จัดโน้ตทั้งประโยคให้ลงตัวได้พอดีในห้อง 4 จังหวะเหมือนที่สังเกตได้ในเพลงไทยเดิมทั่วๆ ไป จึงน่าจะมีการค้นคว้าหาคำตอบประกอบหลักฐานทางดนตรีให้ชัดเจน
เราหวังว่าความพยายามของเราครั้งนี้คงมีค่ากับผู้สนใจในวงการบ้างไม่มากก็น้อย เราไม่ถือว่าเราเป็นผู้รู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นผู้สนใจและอยากรู้มากกว่า ข้อความใดที่เราอ้างผิด หรือเข้าใจผิด เราขออภัยมา ณ ที่นี้ และช่วยกรุณาแก้ไขให้ด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
เนื้อความทั้งหมดนี้ เรายินดีให้นำไปใช้เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้สนใจในวงกว้างต่อไปรศ.ดร. ร้อยเอก นพ. ชยันตร์ธร ปทุมานนท์
รศ. ชไมพร ทวิชศรี
